คิดจะเลี้ยงสัตว์ ต้องมีความรัก และความรับผิดชอบ
ปัญหาสัตว์เลี้ยงไร้บ้านเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายแก้กันไม่ตก ปัจจุบัน ยังคงเห็นการปล่อยปละละเลยในการเลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่การช่วยเหลือสัตว์อย่างผิดวิธี จะเห็นว่า การเลี้ยงสัตว์ไม่ใช่แค่ความรักแค่ชั่วคราวเท่านั้น แต่หมายถึงความรับผิดชอบสัตว์ตลอดอายุขัย
ผศ.น.สพ. รุ่งโรจน์ โอสถานนท์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีการรณรงค์ให้ผู้เลี้ยงสัตว์เห็นถึงความสำคัญ และตระหนักรู้เรื่องการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ (Responsible Pet Ownership) ทั้งต่อตัวสัตว์เลี้ยงเอง และต่อสังคม และเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาสัตว์เลี้ยงไร้บ้าน กล่าวเนื่องในวัน สัตว์เลี้ยงจรจัดโลก 4 เมษายนของทุกปี โดยระบุว่า หากมองย้อนกลับเข้ามาในสังคมไทย เราจะเริ่มเห็นว่ามีหลายๆครอบครัวที่เริ่มเลี้ยงสัตว์เหมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ามีหลายครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เพราะเหตุผลอื่นๆ แต่ไม่ว่าเหตุผลใน การเลี้ยงสัตว์ จะเป็นอย่างไร หัวใจสำคัญในการเลี้ยงสัตว์ คือ ความรับผิดชอบ (Responsible Pet Ownership)
การเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ (Responsible Pet Ownership)
การเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ (Responsible Pet Ownership) เป็นเรื่องที่ฟังดูง่ายแต่ในความเป็นจริงแล้วมีเรื่องต้องพิจารณาเยอะมาก และแทบไม่ต่างอะไรจากการวางแผนมีลูกเลย จึงต้องอาศัยการตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยต้องคำนึงถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสัตว์ และสัตว์เลี้ยงของเรา เช่น การคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสัตว์หากเกิดการเจ็บป่วย การหาผู้อุปการะสัตว์เลี้ยงไปดูแลต่อหากเจ้าของสัตว์ไม่สามารถดูแลได้ การอาศัยอยู่ร่วมกันหากมีการเลี้ยงสัตว์หลายตัวในพื้นที่เดียวกัน
3 ประเด็นสำคัญ การเลี้ยงอย่างรับผิดชอบ
1) ความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของสัตว์เลี้ยง เป็นปัจจัยแรกที่ควรคำนึงถึงเพื่อพิจารณาว่าความเป็นอยู่ของเราเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงชนิดนั้นหรือไม่ เช่น หากคุณเป็นคนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย อาศัยในพื้นที่จำกัด การเลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่หรือพันธุ์ที่มีพลังงานเยอะอาจจะไม่ได้เหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ควรศึกษาถึงปัญหาสุขภาพที่มักพบในสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ อาทิ สุนัขพันธุ์หน้าสั้นมักปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากโครงสร้างใบหน้าที่ผิดรูป และอาจมีความจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหา การทราบสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ผู้เลี้ยงสามารถประเมินความพร้อมได้ในเบื้องต้น ว่าควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนรับสัตว์เลี้ยงมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
2) ความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของเรา เพราะสัตว์เลี้ยงไม่สามารถดูแลตัวเองได้ในทุกเรื่อง ฉะนั้นผู้เลี้ยงต้องมีเวลาในการดูแล ทั้งสุขภาพกาย และ สุขภาพใจของสัตว์ อาทิ มีเวลาในการพาสุนัขไปเดินเล่น การดูแลด้านความสะอาดและสุขลักษณะของสัตว์เลี้ยง การพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำวัคซีนป้องกันโรคและถ่ายพยาธิเพื่อสวัสดิภาพและสุขภาพโดยรวมของตัวสัตว์
3) ความรับผิดชอบต่อผู้อื่นในสังคม เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเนื่องจากเราอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย ต่อให้เราเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของเราเหมือนครอบครัวอย่างไรคงปฎิเสธไม่ได้ว่าสัตว์เลี้ยงของเราอาจไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน เพื่อให้สัตว์เลี้ยง สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงมีหน้าที่ต้องดูแลในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงของตน อาทิ การฝึกพฤติกรรมไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราก่อความวุ่นวายให้แก่ผู้อื่น การดูแลความสะอาดหากสัตว์เลี้ยงของเราขับถ่ายในที่สาธารณะ
การช่วยเหลือสัตว์อย่างรับผิดชอบ
หากเราสำรวจตรอกซอกซอยต่างๆ ในกรุงเทพฯ เรามักเห็นคนใจบุญเมตตาช่วยเหลือสัตว์จรจัดโดยการให้อาหารและน้ำ ซึ่งในอีกด้านก็อาจทำให้พื้นที่นั้นๆ เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มประชากรสัตว์เลี้ยงจรจัด ปัญหาพฤติกรรมสัตว์จากการหวงพื้นที่ ความเสี่ยงจากโรคที่มีสัตว์เป็นพาหะ เนื่องจากไม่มีการดูแลจัดการในส่วนอื่น เช่นการทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม หากต้องการช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงจรจัด แนะนำให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปศุสัตว์ประจำจังหวัดหรือศูนย์พักพิงเนื่องจากหน่วยงานนั้นๆ มีบุคลากร และ ทรัพยากรที่สามารถดูแลสัตว์เลี้ยง และฝึกเพื่อปรับพฤติกรรมอย่างถูกวิธี เพื่อการรณรงค์หาบ้านใหม่ให้แก่สัตว์เหล่านั้นต่อไป
ความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงจรจัด
สัตว์เลี้ยงจรจัด มักถูกคนทั่วไปตีตราว่าเป็นสัตว์ที่มีปัญหา แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถฝึกและปรับพฤติกรรมเค้าได้แต่อาจต้องใช้ความพยายามและเวลามากน้อยต่างกันออกไป หากเรามีความต้องการที่จะรับสัตว์เลี้ยงจรจัดมาเลี้ยง การใช้เวลาสร้างความคุ้นเคยกับสัตว์ เลี้ยงโดยการไปเยี่ยมบ่อยๆ ที่ศูนย์พักพิงก่อนรับไปเลี้ยงก็อาจช่วยทำให้คุณเข้าใจสัตว์เลี้ยงตัวนั้นได้ในระดับหนึ่ง
ส่วนตัวผมมองว่า สัตว์เลี้ยง ทุกตัวควรมีเจ้าของ อาจจะเป็นเจ้าของแบบครอบครัวเดียว หรือเป็นเจ้าของร่วมกันในชุมชนก็ได้ สิ่งสำคัญคือผู้เลี้ยงต้องพร้อมจะรับผิดชอบสัตว์เลี้ยงมากกว่าแค่การให้อาหารไปวันๆ เช่น หากชุมชนเห็นพ้องต้องกันว่าอยากช่วยกันเลี้ยงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในชุมชน ควรมีการทำข้อตกลงร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการหาสถานที่อยู่ที่ปลอดภัยที่เป็นหลักแหล่ง มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างสม่ำเสมอ และความรับผิดชอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งกับตัวสัตว์และชุมชน
การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์เลี้ยง
ประเทศไทยมีการเปิดรับให้สัตว์เลี้ยงสามารถเข้ามาใช้พื้นที่สังคมร่วมกับมนุษย์ในที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวมากขึ้น แม้ว่าการยอมเปิดพื้นที่ต้อนรับสัตว์เลี้ยงอาจยังไม่ได้แพร่หลายมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่ผมก็มองว่าเป็นสัญญาณที่ดีเพราะทำให้เห็นว่าคนที่เลี้ยงสัตว์มีความเข้าใจและความรับผิดชอบมากกว่าเดิม ซึ่งอาจจะเอื้ออำนวยให้เกิดกิจการและกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยงมีจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้นได้
ผศ.น.สพ.รุ่งโรจน์ โอสถานนท์ กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบันสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย เรารณรงค์เรื่องการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบผ่านทางช่องทางต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ อาทิ การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสัตว์เบื้องต้น พฤติกรรมของสัตว์ การทำวัคซีน ฯลฯ เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยงให้ได้มากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตามทางสมาคมฯ เห็นว่างานเหล่านี้ จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งทางภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และหากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ เราจะสามารถสร้างสังคมที่เปิดกว้างให้แก่สัตว์เลี้ยงมากยิ่งขึ้น เกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ให้มีมาตรฐานที่ดี และสามารถช่วยพัฒนาวงการสัตว์เลี้ยงต่อไปได้
รัชกร เจนพัฒนพงศ์ ผู้จัดการทั่วไปของ มาร์ส ไทยแลนด์ อิงค์ กล่าวเสริมว่า การเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบในประเทศไทยอาจยังต้องใช้เวลาในการปลูกฝังการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ เราจะเห็นว่าที่ผ่านมาหลายๆ องค์กร ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ภาควิชาการ และเอกชนมีการรณรงค์เรื่องนี้มายาวนานแค่ไหน แต่ปัญหาเรื่องสัตว์จรจัดก็ยังคงไม่หมดไป หลายๆ ครั้ง มักจะได้ยินปัญหาที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์อย่างขาดความรับผิดชอบถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนมากกว่าด้านดีๆ ซึ่งก็ทำให้หลายฝ่ายยังคงมีความกังวลกับประเด็นนี้
มาร์ส เล็งเห็น ถึงความสำคัญและโอกาสที่จะผลักดันโครงการ Better Cities for PetsTM เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบเพื่อให้มนุษย์และสัตว์เลี้ยงสามารถใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชนได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเชื่อว่าการจะขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สำเร็จได้ต้องได้รับแรงสนับสนุนจากพันธมิตรต่างๆ รวมถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกคนด้วย” รัชนก กล่าว
อ้างอิงเนื้อหา และรูปภาพจาก
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/930702